31 ต.ค. 2556

เราหลงสมมุติ


  • คนนั้นเป็นคนดีนะ
  • คนๆนั้นไปเข้าคอร์สมา ไม่เห็นดีขึ้นเลย
  • เราไปทอดกฐินมา
  • เรากำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ ตื่นเต้นจัง
  • เราต้องไปทำงานทุกวันเลยเบื่อจริงๆ
ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นปรกติกับประโยคพวกนี้ 
สิ่งที่นักปฏิบัติต้องทำเพื่อให้เห็นความจริงคือ
สลายประโยคพวกตีขลุมพวกนี้ออกก่อน
แล้วเข้าไปเห็นแต่ละขณะแทน
ลองดูนะ เริ่มจากประโยคแรก

คนนั้นเป็นคนดีนะ : เราเรียกรวมๆเองว่าคนๆนั้นเป็นคนดีจากค่าเฉลี่ย 
คนแต่ละคนหากดูไปเป็นขณะๆ 
เราจะเห็นว่าเดี๋ยวก็ช่วยเหลือคน
เดี๋ยวก็หงุดหงิด 
เดี๋ยวก็ด่าลูกน้อง
เดี๋ยวก็ไปทำบุญ ฯลฯ 
พอเราไปเห็นจุดที่เขาเกิดกำลังด่าลูกน้อง
เราก็เลยว่าเขาไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย 
แล้วเราดีได้ตลอดเวลาไหมล่ะ!!.. ที่เราว่าเราเป็นคนดี

คนๆนั้นไปเข้าคอร์สมา ไม่เห็นดีขึ้นเลย : คนๆนี้ ธรรมดาเป็นคนเจ้าอารมณ์
ปากไว ด่าคนแล้วก็ว่าตัวเองทำถูก 
แต่หลังจากที่ไปฝึกมา ก็เริ่มอดทน อดกลั้นได้บ้าง 
ขณะที่กำลังด่าคนอื่น เขาเริ่มรู้สึกตัวขึ้นมาบ้างแต่บางครั้งก็เอาไม่อยู่ 
อย่างนี้ก็ดีขึ้นกว่าเดิม ก็ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาต่อไป 
เราตีรวมกันไปหมด เพราะดูแต่ภายนอก

เราไปทอดกฐินมา : การไปทอดกฐินเป็นการพูดแบบรวมๆ
หากเราสลายประโยคนี้ออกจะเหลือ
  -  การเดินออกจากบ้าน 
(หากจะย่อยลงไปจริงๆคือเห็นการเคลื่อนของขา ของร่างกาย 
หากจะย่อยลงไปอีก ก็เพียงเห็นธาตุเคลื่อนไปมาโดยมีธรรมชาติที่เป็นนามธรรม
รับรู้ความรู้สึกและสั่งงานให้กายนี้ขยับไป) 
  -  ขยับกายขึ้นไปบนรูปธรรมที่มาประกอบรวมกันเรียกว่ารถ 
(เพราะมีวัตถุประสงค์ในการอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางบก) 
  -  จากนั้นพาเราเคลื่อนที่ไปจนถึงสถานที่ที่มีสมมุติเรียกว่าวัด เนื่องจากมีพระอยู่รวมกันที่นั่น 
จากนั้นการขยับเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆตามหมู่กลุ่มที่ทำพิธีกันไป 
เมื่อมีการถวายเงิน ถวายข้าวของ ฟังเทศน์ ฟังธรรม 
ใจเป็นกุศลขึ้นมาจากการกระทบของภายนอกเข้าสู่ภายในที่เรียกว่าผัสสะ 
กุศลเกิดขึ้นแล้วดับไปในที่สุด
การทำกุศลส่งผลเป็นกุศล จิตใจเป็นสุขสงบ เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น 
ผู้คนอาจจะหลงเข้าไปยึดถือเพราะรสอร่อยของอารมณ์นั้นที่เกิดไปให้ค่าไว้ด้วยสังขาร 
เมื่อได้เห็นความจริงจะไม่ยึดถือ  แต่ไม่ใช่เลิกทำ 
เพราะกุศลเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้อื่นและมีความสำคัญเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นที่ได้รับ 
โดยเฉพาะการสืบสานงานพระพุทธศาสนา

***ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การคิดเอา แต่เมื่อปฏิบัติไปจะเกิดเป็นญาณทัศนะ เมื่อเราเห็นอย่างนี้จะถอดถอนสมมติทั้งหลายที่เราเข้าไปยึดถือ เพราะเมื่อเพ่งเข้า ธรรมแต่ละชั้นก็จะแตกออกเป็นลำดับให้เราเห็นความจริงว่าโลกทั้งปวงล้วนเป็นของว่าง ไม่มีอะไรน่ายึดถือเลย จึงจะเกิดวิราคธรรม คือเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ เมื่อเบื่อหน่ายก็จะปล่อยนั่นจึงเกิดการดับที่เรียกว่านิโรธ การจะเห็นอย่างนี้ก็อาศัยการเจริญมรรคมาทั้ง๘องค์***

เรากำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ ตื่นเต้นจัง : เช่นเดียวกันกับข้างต้น
เห็นการเคลื่อนไปของกาย ที่ขึ้นรถ แล้วเดิน 
(ก็คือการเคลื่อนไปของกาย) 
และขยับไปนั่งอยู่บนเครื่อง
 (นั่นก็คือการย้ายกายที่ที่นั่งซึ่งหลังถูกเบาะ
ก้นถูกเบาะจากที่นั่งรอเครื่อง ไปอยู่ที่ เบาะที่อยู่อีกที่หนึ่ง)
นั่นคือเครื่องบิน เป็นพาหนะแบบเดียวกับรถแต่ใช้ต่างวัตถุประสงค์กัน 
เมื่อไปถึงที่ต่างประเทศ 
(นั่นเรียกเอาเองเพราะเหยียบไปก็ดินแข็งเหมือนกันทุกที่บนโลก 
มองไปมีตึก มีต้นไม้ มีภูเขา อากาศเย็นกว่า
ทั้งหมดถูกตีรวมอีกเรียกว่า สวย 
จากนั้น  การให้ค่าว่าอย่างนี้สวย อย่างนี้ไม่สวยในใจของแต่ละคน 
สิ่งนี้ถูกปรุงแต่งมาก่อนด้วยความไม่รู้  จึงแปลงร่างกลายมาเป็นความสุขซะอย่างนั้น )

ทั้งๆที่เหนื่อยก็เหนื่อยเหมือนออกไปทำงานนั่นล่ะ 
แต่ใจมันหลอกตัวเอง ฉาบย้อมเอาไว้เลยไม่เห็น 
แต่ไปสักพักจะอยากกลับบ้าน  
เพราะความจริงก็คือความจริง
หากเราไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์แล้วมีความสุข
คนทำงานในดิสนีย์แลนด์คงสุขทุกวัน
ถ้าไม่เห็นความจริงก็สุกๆดิบๆกันไปตามเรื่องทุกคน
ทั้งคนไปเที่ยว ทั้งคนทำงานที่นั่นนั่นแหละ

เราไปทำงานทุกวันเลย เบื่อจริงๆ  (ถ้างั้นไปทำงานที่ดิสนีย์แลนด์ดีไหม จะได้สุขทุกวัน ทุกเวลา) 
ไปทำงานไปยังไง ออกจากบ้าน กายเคลื่อน ขยับไปขึ้นรถอีก 
รถพาเคลื่อนที่ไป ก็เหมือนๆกับการออกไปเที่ยวหรือการไปทอดกฐินเลยไม่ใช่หรือ 
ทีนี้เมื่อถึงที่ทำงาน กายขยับลงก้าวไปๆ จนกายเคลื่อนย่อลง (นั่ง) 
จนก้น (เรียกเองว่าก้น) สัมผัสกับวัสดุที่เป็นธาตุดิน มีความยืดหยุ่น สบายต่อก้น 
ก้นสบาย แต่แปลกที่ "เรา" สุข แทนที่ ก้นจะสุข 
จากนั้นขยับนิ้ว ขยับแขน พูดคุย มีอาการเคลื่อนของกาย 
นำวัสดุที่แข็งๆมีเสียงสื่อสารได้มาแปะที่หูแล้วพูดคุยทำหน้าที่ตามที่ได้รับและถูกว่าจ้างมา 
หากการกระทำทั้งหมดเป็นการช่วยเหลือผู้คนหรือทำไปอย่างดีที่สุดแล้ว ก็จบไปทีละขณะๆ 
จนถึงเวลาขยับกาย ขึ้นไปบนรถแล้วนั่งอยู่บนเบาะรถ 
รถหยุดบ้างเคลื่อนบ้างแต่ เราก็อยู่บนเบาะท่าเดิม 
บางคนถึงบ้านเร็วก็เปลี่ยนจากเบาะรถเป็นเบาะที่บ้านแทน 
ก้นก็ถูกเท่ากันแต่ดีใจเหลือเกินที่ถึงซะที 
ถึงเร็วก็เปลี่ยนที่อยู่ไวขึ้นแค่นั้นเอง 
เมื่อเช้าตอนออกจากบ้านก็ไม่เห็นดีใจขนาดนี้เลย เห็นรีบแทบตาย 
บีบแตรสนั่นเรียกคนนั้นคนนี้แล้วหงุดหงิดแทบตาย 
(เถียงไปเถอะ อกุศลทั้งนั้น)

เรื่องราวในชีวิตมันไม่มีอะไรหรอก
นอกจาก มีธาตุ มีรูป มีกาย ขยับไปมา 
มี วิญญานธาตุ มีนาม เข้าไปรับรู้ เข้าไปเกิดเป็นอารมณ์เพราะความไม่รู้อริยสัจ 
การเคลื่อนทั้งหลายจึงถูกสมมติพาหลง
ให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ไปเที่ยว ไปวัด ไปต่างประเทศ 
เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ คนนั้นดี คนนี้ไม่ดี แบบนี้เร็ว แบบนี้ช้า
 ปฏิกิริยาการตอบโต้ ตอบสนองของสัตว์โลกทั้งหมด
มาจากความหลงที่สั่งสมจนเกิดเป็นสัญชาตญาณ 
สัตว์โลกจึงไปแปลค่าทุกอย่างเป็นสุข เป็นทุกข์ หลงสมมติกันแบบโงหัวไม่ขึ้น 
ไม่รู้ว่าตนจมอยู่ในกองทุกข์ วังวนทุกข์ 
สุดท้ายเมื่อถึงวันตายมาถึงก็สะดุ้ง หวาดเสียว 
ทั้งๆที่กายเสื่อมสภาพจะด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม
ไม่ว่าจะ อุบัติเหตุ นั่นก็เพียงมีการกระทบ กระแทกอย่างรุนแรงของวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไปที่กายนี้ แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกขึ้นชั่วคราว
หรือการเสื่อมสภาพของอวัยวะที่ถูกประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิต 
ที่เป็นชีวิตขึ้นมาได้ก็เพราะมีวิญญานและอากาศเข้าไปประกอบ 
เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหายหรือดับไป การดำรงอยู่ของชีวิตก็จบสิ้นไป
แต่รูปนามที่ประกอบเป็นร่างกาย ยังคงแสดงไตรลักษณ์ต่อเนื่องสืบไปทั้งๆที่ตายไปแล้ว

ในส่วนของจิตใจที่มีเชื้อเกิดอยู่ 
ก็จะก่อร่างสร้างกายขึ้นมาใหม่จากเหตุปัจจัยที่ทำมาเอง 
ก่อกำเนิดเป็นชีวิตใหม่ต่อไป 
ภายใต้ขันธ์ที่มีรหัสเก็บไว้ในทุกๆขณะของประสบการณ์จากกรรมและอารมณ์ในอดีตเป็นเชื้อ
เหมือนทุกคนสั่งสมตัวต่อ Lego สีดำหรือสีขาวเอาไว้แต่ละวินาที
เมื่อถึงเวลาก็เอา Lego แต่ละชิ้นที่เก็บไว้มาต่อกันขึ้นมาใหม่ 
หากแยกให้ง่าย สีขาวเป็นกุศลและสีดำเป็นอกุศลที่สั่งสมมา
เมื่อถึงเวลาประกอบ Lego ขึ้นมาใหม่  ถ้าสีที่เราเก็บไว้ส่วนมากเป็นสีดำ 
ท่านจะต่ออย่างไร  ให้มันเป็นหุ่นยนต์ตัวสีขาวๆหน่อย
เพื่อจะได้เอาไปรวมอยู่กับกลุ่ม Lego ของคนอื่นเขาต่อกันแล้วมีสีขาวเยอะๆ
กรรมการคงไม่ให้หุ่น Lego ของท่านที่ต่อแล้วมีแต่สีดำสกปรกไปอยู่กับพวกหุ่นตัวขาวๆกระมัง
สัจจธรรมความจริงก็มีแค่นี้ล่ะ

จนเมื่อเข้าใจด้วยการเห็นความจริงตามความเป็นจริงดังนี้ 
แน่นอนจะเกิดการปล่อยวางจนละความเห็นผิดในสักกายทิฏฐิ
คือความเห็นผิดในความเป็นตัวตน
จะหมดความยึดถือในขันธ์
เพราะขันธ์ก็เป็นเพียงของว่างของเปล่าไร้ความหมายใดๆแห่งความเป็นตัวตน

แล้วผู้ที่กำลังนึกคิดวิเคราะห์อยู่ 
ที่ยังรู้สึกว่าตนมีปัญญา ว่าตนเกิดสัมมาทิฏฐิ 
ได้รู้ ได้เข้าใจสรรพสิ่งทั้งหลายจนหมดสิ้นแล้ว 
นั่นล่ะที่ยังไม่จบไม่สิ้นเชื้อ

แต่หากวันใดที่เข้าถึงพระธรรม ก็จะสามารถอยู่กับสมมติแบบวิมุติ 
โดยจะอยู่กับสมมติแบบสมมติ ก็ไม่มีทางหลง
หรือจะอยู่กับสมมติแบบวิมุตติว่างสงบไปกับโลกสมมติ  ก็ยังคงสงบเย็นเป็นปรกติ 
ไม่หลงสร้างตัวตนเจ้าข้าวเจ้าของอะไร อย่างไร ใดๆขึ้นมาอีก
เข้าใจทั้งสัพเพ สังขารา และ สัพเพ ธัมมา ว่าล้วนเป็นอนัตตา 
ตรงนี้เป็นเหตุจากสัมมาทิฏฐิ ส่งผลเป็น สัมมาญาณและสัมมาวิมุตติ
มองโลกผ่านมุมของ วิมุตติญาณทัศนะ 
มองในมุมของวิมุตติไม่มองผ่านมุมของขันธ์ 
เมื่อนั้นจะอยู่นอกเหตุเหนือผล 
หมดคำพูดใดๆที่จะบรรยายสภาพ
หมดเขา หมดเรา 
ไม่มีใครดีใครไม่ดี 
ใครถูกใครผิด 
มันเป็นเช่นนั้นเอง 
มีผลเพราะมีเหตุ 

ช่วยทำให้คนเติมน้ำเปล่าลงในน้ำเกลือของแต่ละคนให้มากๆ จนหายเค็ม
และสอนให้เลยยึดถือแก้ว เลิกยึดถือน้ำ 
แต่คนๆนั้นจะเติมน้ำของเขาต่อไปโดยไม่ยึดถือในน้ำนั้นอีก
เพราะความเคยคุ้นเพราะเห็นประโยชน์ด้วยสติปัญญา 
ซึ่งเกิดแทรกอยู่ในตัวสังขารเอง 
การทำกุศลนั้นเป็นการทำประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งนั่นก็คือประโยชน์ตนนั่นเอง
ความจริงอยู่ที่การทำหน้าที่ของแต่ละคน 
เมื่อทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน
ก็จะถึงพร้อมด้วยการทำอย่างมีสติปัญญานั่นเอง

- อ.ประเสริฐ  อุทัยเฉลิม  -

ที่มา : http://www.suanyindee.net/index.php?option=think&task=view&id=238

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น