หิวข้าว !!!
อยากกินข้าวผัดกระเพรา
เดินไปกินร้านโปรด คนแน่นเหลือเกินเลยกินอีกร้านที่คนน้อยหน่อย ...
รสชาติไม่ได้เรื่อง หงุดหงิด ทีหลังไม่เอาแล้ววุ้ย..!
นี่ก็เหตุการณ์ธรรมดาของปุถุชน
ผู้สั่งสมสัญชาตญาณแห่งมิจฉาทิฏฐิทำอะไรก็ผิดไปหมด...ผิดยังไงหว่าก็เห็นเป็นกันอย่างนี้ทุกคนนี่
หิวข้าว เป็นเวทนาทางกาย ที่กายนี้แสดงออกเพื่อให้หาอาหารเติมเข้าไปง่ายๆว่าเขาต้องการอาหาร
เอ้าเปลี่ยนเป็นกายต้องการอาหารแล้วกัน
เดี๋ยวเจอพวกติดแต่คำของโลกอีกว่ามีเขามีเรา
จริงๆคำว่า หิวข้าว เป็นคำโลก แทนคำว่า กายต้องการอาหาร
เมื่อเติมอาหารให้ กายก็อยู่ต่อไปได้
ส่วนอยากกินผัดกระเพรา....เป็นความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นมา
จุดนี้เป็นรอยต่อที่สำคัญ
ความรู้สึกอยากกินผัดกระเพรา เป็นเพราะสัญญาจำได้
เพราะเมื่อเกิดผัสสะ เวทนาและสัญญาจะเกิดตามทันที
นี่จึงเกิดมาเป็นความรู้สึกในครั้งต่อมา
ที่ว่าเป็นจุดเปลี่ยน คือ
รอยต่อนี้จะสามารถแปรไปเป็นตัณหาและเกิดเป็นอุปาทานได้ทันทีอย่างรวดเร็วในปุถุชนผู้มิได้สดับ
ส่วนในผู้ที่สดับ รอยต่อที่ความพอใจในรสของผัดกระเพรา
นั้นเป็นสัญญาที่เกิดได้จากลิ้นลิ้มรส
แต่หากรสชาติไม่ถูกยึดถือก็ไม่เกิดเป็นตัณหา
จุดนี้จึงล่อแหลมมากเวลานำมาพูด
เพราะผู้ไม่รู้ จะเห็นความชอบกับความอยาก ผสานเป็นหนึ่งเดียว แยกกันไม่ออก
ในความจริง หากไม่ได้ใส่ใจในรส มันก็ดับไปเมื่อจบที่ผัสสะ
คือเป็นเพียงสภาพสักว่ารส
แต่หากชอบในรส มันก็มาถึงเวทนา แต่ไม่ถูกปรุงขึ้นมาให้ยึดถืออะไร
สังขารนั้น มีประสบการณ์กับอาหารกันมาตั้งแต่เด็ก
รู้สึกนี้เป็นธรรมดาในสังขาร(กายกับใจ) เป็นความรู้สึกว่างจากตัวตน
เป็นสิ่งที่เกิดคู่กายแต่ไม่มีผู้เข้าไปยึดถือเมื่อถึงที่สุด
วันนี้ยากที่จะทำความเข้าใจ
แต่เมื่อไหร่ที่ความอยากดับไปสลายไปเพราะหมดเหตุ (เพราะเกิดจากการเจริญมรรค )
มันจะเกิดความเข้าใจที่ไม่ได้ติดอยู่ที่ความรู้สึกว่า เราเข้าใจ
แต่มันจะเข้าไปเข้าใจที่ใจเลย
บางคนจึงเริ่มรู้สึกเหมือนการฟังธรรมแม้นเป็นเรื่องเดียวกันกับที่เคยฟังมา
แต่มันกลับไม่เหมือนเดิม
ที่ผ่านมามันสร้างเป็นตัวตนในการฟัง
แต่วันใดเมื่อการฟังมันสัมผัสเข้าไปที่ใจไม่ใช่เราคิด
เมื่อนั้นธรรมะจะเข้าไปถึงใจ
บางคนถึงกับร้องไห้ออกมาแบบพูดไม่ถูก พูดไม่ออก
ไม่ต้องการคำอธิบายอีกต่อไป
- อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม -
19 พฤษภาคม 2556
เวปไซต์ สวนยินดีธรรมhttp://www.suanyindee.net/index.php?option=think&task=view&id=229
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น